“ข้าวโพดหวาน” คือผลผลิตที่ได้จากการทดลองที่กล่าวไปข้างต้น และ “มะม่วงจินหวง” เป็นผลผลิตจากฟาร์มคณะเกษตรศาสตร์ มช. ผลผลิตทั้ง 2 ชนิดเป็นผลผลิตทางเกษตรที่มีราคาขายสดค่อนข้างต่ำ จากเว็บไซต์ตลาดไท ในปี 2567 ได้มีการแสดงสถิติราคาข้าวโพดหวานเบอร์กลาง ราคาต่ำสุดช่วงเดือนมีนาคม 9.7 - 8.5 บาท/กิโลกรัม และช่วงที่มีราคาสูงสุดอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน ราคาอยู่ระหว่าง 14 - 16 บาท/กิโลกรัมเท่านั้น
ราคาขายสดมะม่วงจินหวง ช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2567 ไม่มีสถิติราคาซื้อขายปรากฏ และหากพิจารณาเฉพาะช่วงที่มีราคาซื้อขาย เดือนมกราคมมีเพดานราคาต่ำสุด ราคาอยู่ระหว่าง 3 - 2 บาท/กิโลกรัม และสูงสุดช่วงเดือนสิงหาคม - ธันวาคม ราคาอยู่ระหว่าง 18 - 30 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรจะสามารถขายสินค้าได้ในราคาไหนขึ้นอยู่กับคุณภาพ หรือเกรดของผลผลิตชนิดนั้น ๆ ด้วย
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าราคาผลผลิตทั้ง 2 ชนิดมีราคาซื้อขายที่ค่อนข้างต่ำ และมีความผันผวนของราคาเป็นอย่างมาก ทำให้ผลผลิตทางการเกษตร 2 ชนิดนี้ ถูกนำส่งมายังอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ Step เพื่อเพิ่มมูลค่า และลดการทิ้งผลผลิตคุณภาพต่ำ
การดำเนินงานพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลผลิตทางการเกษตรเกิดจากความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในพื้นที่ไร่แม่เหียะ โดยเริ่มจากคณะเกษตรศาสตร์ มช. ในฐานะผู้ผลิตต้นทาง ในที่นี้ได้มีการส่งต่อผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ข้าวโพดหวานและมะม่วงพันธุ์จินหวง มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
ขั้นตอนต่อไปคือการตามหาความต้องการของผู้บริโภค โดยได้รับความร่วมมือจากคณะบริหารธุรกิจ มช. และขั้นตอนการคิดค้นสูตร นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการผลิตได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์คณะอุตสาหกรรมการเกษตร มช. ในการคิดค้นวิธีการและพัฒนาสูตรการผลิตต่าง ๆ และส่งต่อมายังหน่วยงานผลิต คือ โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. ในการทดลองแปรรูปผลผลิตตามกระบวนและวิธีการที่คณาจารย์คณะอุตสาหกรรมเกษตร คิดค้นขึ้นมา
คุณชานนท์ สมิทธิกุล หัวหน้าทีมโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. กล่าวว่า การแปรรูปผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ เน้นการเพิ่มคุณค่าให้กับผลผลิตโดยการเติมสารสำคัญเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ โดยข้าวโพดหวานจะนำมาแปรรูปเป็นคุกกี้ (Soft Corn Cookies) ที่มีการเพิ่มสารอาหารโปรตีนเข้าไปในผลิตภัณฑ์ด้วย ส่วนมะม่วงจินหวงจะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เจลลี่มะม่วง (Mango Jelly) โดนมีเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยการเพิ่มคอลลาเจนเข้าไปด้วย
“คุกกี้ข้าวโพดหวานเสริมโปรตีน” (Soft Protein Corn Cookies) 1 ถุง ขนาด 50 กรัม มีปริมาณโปรตีนสูงถึง 5 กรัม เทียบได้ว่า การทานคุกกี้ข้าวโพดหวาน 1 ชิ้น จะได้รับโปรตีนเท่ากับการบริโภคไข่ต้ม 1 ฟอง ซึ่งเหมาะกับผู้บริโภคที่มีชีวิตเร่งรีบ
“เจลลี่มะม่วงเสริมคอลลาเจน” (Fresh Mango Jelly) ผลิตภัณฑ์เจลลี่เสริมคอลลาเจน ที่ทำจากมะม่วงพันธุ์จินหวงแท้ 100% ไม่มีส่วนผสมของเจลาติน มีไฟเบอร์และพรีไบโอติก และที่สำคัญ 1 ซอง มีคอลลาเจนเปปไทด์ (Callagen peptide) 1,000 มก. เหมาะกับกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการบำรุงผิวพรรณ
โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดสอบตลาด ซึ่งผู้สนใจอยากทดลองผลิตภัณฑ์เหล่านี้ สามารถไปหาซื้อได้ที่ร้านค้าทดสอบตลาดบริเวณคณะเกษตรศาสตร์ มช. และร้าน NSP INNO STORE ของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. ร้านค้าที่เป็นพื้นที่ทดสอบตลาดของอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ถูกพัฒนาโดย Step และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคหรือบริโภค
จะเห็นได้ว่า กระบวนการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เกิดจากความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงานในพื้นที่ไร่แม่เหียะ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปธรรมของโครงการ BCG Economic Model ปีที่ 2 จากข้าวโพดหวานและมะม่วงจินหวงของศูนย์วิจัย บูรณาการ สาธิตและฝึกอบรมนวัตกรรมการเกษตร สู่การเพิ่มมูลค่าที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์